เมื่อการเที่ยวกลางคืน การดื่มเหล้าเบียร์ คือคนเลว

ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เทรนด์การเที่ยวกลางคืน การดื่มเบียร์ ดื่มเหล้าคือหนึ่งในไลฟ์สไตล์ที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ มันปลดปล่อยความอิสระ ปลดปล่อยความเป็นวัยรุ่น เหมือนกับว่า ครั้งหนึ่งของการบรรลุนิติภาวะ ต้องผ่านการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แน่นอน ใครไม่ดื่ม แสดงว่าเอาท์

แต่ในปัจจุบัน กระแสการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงอย่างน่าใจหาย ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศในตอนนี้ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีเทียบเท่ากับยาเสพติดเลยทีเดียว คนที่ดื่มในปัจจุบันก็ต้องแอบ ๆ กันดื่ม และพยายามจะ PR ถึงข้อเสียในการดื่มเหมือนกับว่า การดื่มของมึนเมาให้โทษมากกว่าข้อดี ซึ่งในตอนนี้ ใครจะชวนดื่มต้องคิดหนักแล้ว

แต่คำถามคือ เทรนด์การดื่มในไทยที่ลดลงแบบนี้ มันเกิดจากอะไร จริง ๆ ไม่ต้องคิดเลย ก็ภาครัฐนั่นแหละ เล่นจำกัดเวลาการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วง COVID-19 ระบาดใหม่ ๆ ก็ไม่ให้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใครขาย ผิดกฎหมายทันที ฯลฯ และการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่ใกล้ ๆ สถานศึกษา และอื่น ๆ อีกมากมาย

คำถามคือ มันช่วยลดอุบัติเหตุอะไรไหม คำตอบคือ “ไม่”

แต่ปัญหามันอยู่ที่พฤติกรรมการดื่มของไทยที่มันไม่เหมือนชาวโลก ซึ่งแก้ไขยากมาก

เมื่อภาครัฐกีดกันเรื่องเหล้า บุหรี่จนประสบความสำเร็จ

ในช่วงที่กฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กีดกันคนในวงการนี้ตั้งแต่ปี 2551 ผ่านมา 13 ปีแล้ว กฎหมายนี้ยังบังคับใช้อยู่ และดูเหมือนการบังคับใช้เริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อารมณ์เหมือน ดื่มเหล้า = เสพยาแล้วตอนนี้ เข้าใจที่ผมสื่อไหมครับ คือถ้าเราดื่มเหล้าเมื่อไร ภาพลักษณ์มันแย่ลงทันที ทั้ง ๆ ที่การดื่มเหล้าของคน ๆ นั้น อาจจะดื่มแบบจิบ ๆ ตามมาตรฐานสากลเหมือนที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเค้าดื่มกัน

ซึ่งมาตรการกีดกันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เท่าที่ผมเช็คมา เริ่มจากน้อยไปมาก เมื่อช่วงปีต้น ๆ ไม่มีการโฆษณาเหล้าเบียร์ แต่โฆษณาได้ในโลกออนไลน์ สักพัก ห้ามดื่มเหล้าขณะขับรถ สักพัก ห้ามขายเหล้าในปั้ม สักพัก ห้ามเน็ตไอดอลโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สักพัก ห้ามโชว์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อหลัก (ถ้าโชว์ต้องมีการเซนเซอร์เหมือนหนัง AV ญี่ปุ่น) สักพัก ห้ามประชาชนทั่วไปโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สักพัก ห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันพระใหญ่ สักพัก ห้ามขายเหล้าใกล้สถานศึกษา และอะไรหลาย ๆ อย่างที่กีดกันแบบ เห้อะไรวะ

ซึ่งชาวต่างชาติที่มาเมืองไทยต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า “เหล้าเบียร์ในไทยโคตรแพงเลยว่ะ”​

เรื่องน่าคิดอีกอย่างคือ เมื่อก่อน ผมสามารถถ่ายภาพพริตตี้ตามบูธลานเบียร์ได้ (แต่พริตตี้บุหรี่ถ่ายไม่ได้ ถ้าจะถ่ายต้องไม่ให้พริตตี้ถือบุหรี่ และแยกตัวออกจากบูธก่อน) แต่พอเวลานี้ ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าผมจะถ่ายพริตตี้ลานเบียร์ดีไหม เพราะถ้าผมถ่ายแล้วลง Social Media ไม่ใช่แค่ผมจะเสี่ยงถูกจับเท่านั้น พริตตี้คนนั้นก็อาจจะโดนไปด้วย กลายเป็นว่า ผมเป็นต้นเหตุที่ทำให้เค้าเดือดร้อน ทั้ง ๆ ที่เค้าทำอาชีพสุจริต

เทรนด์เรื่องสุขภาพมาแรงมาก ๆ

เอาจริง ๆ เทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ล้วนมาจากอิทธิพลของ Influencer ในโลกออนไลน์อย่าง Instagram ทั้งนั้นเลย อันนี้ต้องพูดถึงจริง ๆ เพราะเทรนด์จะเปลี่ยนไปในแต่ละปี ซึ่งเท่าที่ผมดูมาพบว่า

  • ปี 2011-2014 เทรนด์เที่ยวกลางคืนมาแรงมาก ๆ สามารถโพสต์การดื่มเหล้าเบียร์ได้ตามปกติ
  • ปี 2015-2016 เทรนด์ Slow life มาแรง (พวก Hipster อะไรพวกนี้) เทรนด์ดื่มเหล้าลดลง เพราะกฎหมายบังคับใช้
  • ปี 2016 เทรนด์ Food truck มาแรงมาก
  • ปี 2017 อันนี้ไม่รู้ว่าเทรนด์อะไรมาแรง
  • ปี 2018 เทรนด์ออกกำลังกายมาแรง โดยบูมจากกลุ่มออกกำลังกายใน Fitness ก่อน
  • ปี 2019 เทรนด์ออกกำลังกายยังอยู่ แต่ไปเน้นการวิ่งมาราธอนแทน เพราะกลุ่ม Influencer สายความรู้เป็นผู้จุดกระแสให้รักสุขภาพ
  • ปี 2020 เทรนด์ออกกำลังกายหายไปเพราะ COVID-19 แล้วหันไปเล่น Tiktok แทน (ก็ไม่พ้นการเต้น) และเทรนด์เรื่องการเมืองที่หนักมาก
  • ปี 2021 เทรนด์เรื่องการเมืองมีเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือ การเล่น Surf skate

เอาจริง ๆ ด้วยความที่เทรนด์สุขภาพมาแรงเวอร์ ๆ และหลาย ๆ คนอยากจะหุ่นลีน เอว S หรือท้องเป็นเลข 11 ทำให้ใครหลาย ๆ คนเลือกที่จะ “ออกกำลังกาย”​ แต่ในความเป็นจริง จากที่ผมเข้ามาในวงการนี้มาหลายปี พบว่า คนหน้าใหม่ มักจะถูกหลอกเกินครึ่ง

ที่ถูกหลอกมากที่สุด คือ ออกกำลังกายแล้วผอม จริง ๆ ไม่ใช่ 100% เพราะส่วนใหญ่เลยคือ กินอาหารที่เป็นประโยชน์ นอนอย่าดึก โดยเฉพาะนอนอย่าดึกต้องขีดเส้นใต้เน้น ๆ เลย คือถ้านอนไม่ดึก แล้วหุ่นดีจริง และพอไปดูแล้ว มันขัดแย้งกับไลฟ์สไตล์เที่ยวกลางคืนด้วยไง ซึ่งตรงนี้ทำให้เทรนด์การเที่ยวกลางคืนมันไม่ปังเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ทุกคนอยากหุ่นดีกันหมด เหมือนกับว่า คนที่ผอม สุขภาพดี คือคนที่มีหน้ามีตาในสังคม ซึ่งการไปทำเอวเอสได้หรือ ให้หน้าท้องเป็นเลข 11 ถือว่ายากอยู่เหมือนกัน

ซึ่งเอาจริงๆมันไม่ใช่แค่การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว

ดารา คนดังใน Social Media กำลังโดนภาครัฐใช้กฎหมายบังคับ

ย้อนกลับไปช่วงปี 2011 ต้น ๆ ช่วงที่ Instagram เพิ่งเปิดให้ใช้งาน ไลฟ์สไตล์ของดาราส่วนใหญ่จะเน้น ไปเที่ยวสังสรรค์และเอิกเกริกกันยกใหญ่ มีการโชว์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นอย่างชัดเจน ด้วยจุดนั้นทำให้ภาครัฐมองว่าดาราคนดังที่โชว์ไลฟ์สไตล์สุดเหวี่ยงในโซเชียลมีเดียกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของคนรุ่นใหม่ในตอนนั้นที่คิดว่า การออกไปปาร์ตี้คือหนึ่งในสิ่งที่ควรทำ ถ้าไม่ทำถือว่าผิด

ในช่วงปี 2011 ต้นต้นจนถึงปี 2014 เป็นยุคแห่งการเที่ยวกลางคืนโดยสมบูรณ์ และอุตสาหกรรมการเที่ยวกลางคืนในยุคนั้นก็เฟื่องฟูมากๆ เพราะว่าในช่วงปี 2011 เริ่มมีการกวดขันเรื่องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อหลัก ดังนั้นทางบริษัทที่ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ต้องใช้วิธีอื่นๆในการโฆษณา หนึ่งในนั้นคือการโฆษณาผ่านทางโซเชียลมีเดียแทน คนที่โฆษณาไม่ใช่มีแค่ดาราเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเน็ตไอดอลในยุคนั้นด้วย

และในยุคนั้นมีพริตตี้หลากหลายคนที่โฆษณาเหล้าเบียร์กันยกใหญ่ ซึ่งทำให้การดื่มเหล้าดื่มเบียร์เป็นที่ฮอตฮิตมาก และสุดท้ายการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ถูกบังคับด้วยกฏหมายในที่สุด

เนื่องจากในช่วงปี 2015 เริ่มมีกการจับกุม ดาราเซเล็บหรือเน็ตไอดอลที่โชว์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีดาราหรือคนดังหลายคนโดนค่าปรับหรือโดนจับ ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา ผมเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการจับ ซึ่งมันไม่ใช่ เหล้าเบียร์กลายเป็นสินค้าผิดกฎหมายตั้งแต่เมื่อไร ถ้าจะผิดจริง ๆ คือพวกขายยาเสพติดไม่ใช่เหล้าเบียร์แบบนี้

ต้นตอของปัญหา อยู่ที่ “พฤติกรรมการดื่มของคนไทย” ที่ไม่มีใครให้ความรู้ที่ถูกต้อง

เรื่องนี้สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ และดูเหมือนคลิปของ Echo ก็พูดแทนใจผมหมดแล้วครับ ไปดูคลิปกันได้เลย

ปัญหาที่ทำให้ภาครัฐออกกฎหมายบ้า ๆ บอ ๆ กีดกันผู้ดื่ม และผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ “พฤติกรรมการดื่มของคนไทย” ที่ต้องดื่มให้เมา ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ และเป็นการดื่มที่ผิดวิธีอย่างร้ายแรง หรือการยุยงให้เพื่อนดื่มหมดแก้ว ๆ ๆ นี่ก็ผิดเหมือนกัน และควรจะมีบทลงโทษกับคนที่ยุยงให้ดื่มหมดแก้วด้วย เพราะมันอันตรายมาก ๆ

ซึ่งปัญหาดื่มหมดแก้ว ดื่มให้เมา สร้างปัญหาต่าง ๆ นา ๆ มากมาย ทำไมไม่ห้ามพฤติกรรมการดื่มแบบนี้ ทำไมไม่ส่งเสริมให้ดื่มแบบจิบ ๆ เพื่อเข้าสังคม แต่เลือกที่จะตัดสินว่า ดื่ม = ลดทอนคุณค่าทางสังคม

ความจริงคือ ดื่มแบบจิบ ๆ ค่อยเป็นค่อยไป เพราะแอลกอฮอล์จะช่วยให้สมองไม่เกิดความตึงเครียด แล้วเราสามารถพูดคุยกับคนได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำไมไม่แนะนำให้ดื่มกันแบบนี้ แทนที่จะออกแคมเปญ จน เครียด กินเหล้า, ให้เหล้า = แช่ง ลองออกแคมเปญแบบ “ดื่มแบบนี้ใคร ๆ ก็ชอบ” แล้วเตือนด้วยว่า “ดื่มแล้วนั่งแท็กซี่กลับนะครับ” อะไรประมาณนี้ ทำไมทำกันไม่ได้ มาห้ามซะเหมือนว่า เหล้าเบียร์คือตัวร้ายที่ไม่ต่างจากยาเสพติด

บางครั้ง การที่คิดว่า รัฐออกกฎหมายแบบนี้ ดีแล้ว เพราะคนไทยคุมยาก แต่คำถามคือ ประชาชนคนไทยต้องเป็นแบบเด็ก ๆ แบบนี้แล้วรัฐทำตัวคิดเองเออเองเป็นผู้ใหญ่คอยคิดแทนประชาชนแบบนี้นานแค่ไหน ทำไมรัฐไม่ยอมให้ความรู้กับประชาชนอย่างถูกต้อง ยิ่งทำแบบนี้เท่ากับว่า ยิ่งกีดกั้นเสรีภาพในการใช้ชีวิต และยิ่งการเอาวันสำคัญทางศาสนาไปพัวพันกับการอ้างเรื่องการห้ามขายเหล้าเบียร์ มันยิ่งจะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนหนักกว่าเดิมจนสายตาของชาวต่างชาติต้องอุทานว่า

“What the fuck is that?”

และเอาจริง ๆ รายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบ Craft แบบสไตล์สินค้า OTOP สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ดีมาก ๆ และคนจะซื้อสินค้าก็สามารถซื้อและภูมิใจในความเป็นสินค้าไทยได้ด้วย ทำไมไม่คิดถึงตรงนี้

แล้วเรื่องที่คุณภาพประชากรคนไทยส่วยใหญ่ที่มันตำ่ ๆ คำถามคือ มันต่ำเพราะอะไร ก็เพราะการศึกษาไม่เข้าถึง และหน้าที่ตรงนี้เป็นส่วนของรัฐมนตรีด้านการศึกษา ที่ทุกวันนี้ดูเหมือนไม่ได้สนใจอะไรมากมาย นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการกระจุกความเจริญที่เน้นในกรุงเทพเป็นหลัก แล้วพอเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลออกกฎหมายแบบเหมารวม จัดการที่ปลายเหตุ เลยกลายเป็นว่า

กรรมตกไปอยู่ที่ประชาชนคนไทยที่ชินกับการห้ามนู่นห้ามนี่ โฆษณาชวนเชื่อแบบปลอม ๆ จนบางคนเข้าใจผิด และกล่าวหาสิ่งที่เป็นทางเลือกว่าเป็นสิ่งนอกรีต

Advertisement

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Blog at WordPress.com.

%d bloggers like this: